คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนมิกซ์ คอนกรีต ปั๊มคอนกรีต

สะพานภูมิพล
สะพานภูมิพล

สะพานภูมิพล

สะพานภูมิพล  หรือชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม (Mega Bridge) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ 3 ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย และถนนกาญจนาภิเษก ลักษณะเป็นสะพานขึงขนาด 7 ช่องการจราจร ทางด้านเหนือหรือ "สะพานภูมิพล 1" เชื่อมระหว่างแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร กับตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทางด้านใต้หรือ "สะพานภูมิพล 2" เชื่อมระหว่างตำบลทรงคนองกับตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 แต่ก่อนหน้านั้นได้เปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549

                         ในวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งอังสนาของกองทัพเรือ ทรงทำพิธีเปิดสะพานภูมิพล และประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ณ กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ   

                         เป็นโครงการอันเกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยมีพระราชประสงค์ให้รองรับรถบรรทุกให้วิ่งอยู่ในเส้นทางที่เป็นวงแหวนเชื่อมระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับบริเวณท่าเรือคลองเตย เพื่อมิให้รถบรรทุกเหล่านี้วิ่งผ่านเข้าไปยังตัวเมืองชั้นใน

สะพานภูมิพล 1

                           เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือ เชื่อมระหว่างแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร กับตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสะพานขึงเคเบิลคู่ขนาดกว้าง 7 ช่องจราจร ที่ประกอบด้วยเสาสูง จำนวน 2 ต้น ความยาวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 326 เมตร เป็นโครงสร้างประกอบระหว่างคอนกรีต และเหล็ก และความยาวตัวสะพานในช่วงด้านหลัง 128 เมตร เป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตอัดแรง ความสูงจากระดับน้ำสูงสุดที่กึ่งกลางสะพานประมาณ 50 เมตร เพื่อให้เรือบรรทุกหรือขนส่งสินค้าสามารถแล่นลอดได้

สะพานภูมิพล 2

                         เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ เชื่อมระหว่างตำบลทรงคนองกับตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสะพานขึงเคเบิลคู่ขนาดกว้าง 7 ช่องจราจร ที่ประกอบด้วยเสาสูง จำนวน 2 ต้น ความยาวสะพาน ช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 398 เมตร เป็นโครงสร้างประกอบระหว่างคอนกรีตและเหล็ก และความยาวตัวสะพานในช่วงด้านหลัง 152 เมตร เป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตอัดแรง ความสูงจากระดับน้ำสูงสุดที่กึ่งกลางสะพานประมาณ 50 เมตร เพื่อให้เรือบรรทุกหรือขนส่งสินค้าจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถลอดได้เพื่อเข้าสู่ท่าเรือคลองเตย

    ช่วงตะวันตก เป็นทางยกระดับข้ามถนนพระราชวิริยาภรณ์ และเป็นทางระดับพื้นราบ ก่อนจะเป็นทางยกระดับอีกครั้งเมื่อบรรจบกับถนนสุขสวัสดิ์ โดยแยกเส้นทางออกไปจากช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

การก่อสร้างการเชื่อมสะพาน

                       ใช้วิธีก่อสร้างทั้งสองฝั่งมาบรรจบกันตรงกลาง โดยทีมแขวนสะพานกำหนดระยะการเชื่อมสะพานแค่ 6 เดือน โดยการเชื่อมใช้พื้นคอนกรีตหนักอัดแรงหนักชิ้นละ 480 ตัน มาเชื่อมกัน โดยใช้เครนคู่ขนาดยักในดึงคอนกรีตขึ้นจากเรือขนส่งด้านล่าง ซึ่งการยกคอนกรีตมีเวลาแค่ 4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น เพื่อเปิดทางให้การจราจรทางน้ำให้เป็นปกติ ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างเพียง 4 เดือนเท่านั้น จากกำหนดเดิม 6 เดือน ซึ่งบันทึกในสถิติโลกว่า เป็นการสร้างสะพานแขวนคู่ที่สร้างเร็วที่สุดในโลก และใหญ่ที่สุดในเอเชีย